Thursday, November 19, 2009

Orville and Wilbur Wright:ออร์วิล และ วิลเบอร์ ไรท์

ผู้ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องบินได้เป็นบุคคลแรก



ออร์วิล และ วิลเบอร์ ไรท์ เป็นบุตรของเสมียนในเมืองเล็กๆชื่อ เดตันในรัฐโอไฮโอ วิลเบอร์ ไรท์ ผู้เป็นพี่ชายเกิดในปี 1867 ส่วนออร์วิล คนน้องเกิดในปี 1871 ทั้งสองมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการบินตั้งแต่ได้รับของขวัญเป็นเครื่องร่อนเล็กๆ ซึ่งสองคนพี่น้องแปลกใจว่าเครื่องร่อนนั้นเป็นอย่างไร

ต่อมาในปี 1895 หลังจากที่ทั้งคู่จบการศึกษาและร่วมกันเปิดร้านซ่อมจักรยานนั้น พี่น้องคู่นี้ได้อ่านบทความที่เขียนโดยนักสร้างเครื่องร่อนชาวเยอรมัน ชื่อ ออตโต ลิเลียนทาล บทความนี้ทำให้เขาประหลาดใจเหมือนเมื่อเขาทั้งสองเป็นเด็ก จึงตัดสินใจที่จะสร้างเครื่องยนต์ที่บินได้และบรรทุกคนได้ด้วย

หลังจากทั้งสองพี่น้องได้ศึกษาและทดลองถึงการลอยตัวของว่าวและเครื่องร่อนจนรู้สาเหตุแล้วจึงได้สร้างเครื่องร่อนขนาดใหญ่พอที่จะบรรทุกคนขึ้นไปได้หนึ่งคนเป็นครั้งแรกและให้ชื่อมันว่า คิตตี้ ฮอร์ค (Kitty Hawk) โดยทำการทดลองร่อนที่เนินเขาในรัฐแคลโรไล เหนือที่มีลมแรง การทดลองประสบผลสำเร็จ ทั้งคู่จึงได้สร้างเครื่องร่อนอีกหลายลำและเพิ่มระยะทางการบินให้มากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1902 ทั้งคู่จึงคิดค้นหาวิธีที่จะทำให้เครื่องร่อนบินได้ไกลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคิดที่จะใส่เครื่องยนต์ให้กับเครื่องร่อนนั้น พอปลายปี 1903 เครื่องบินลำแรกของโลกได้ถูกสร้างขึ้น โดย วิลเบอร์ ไรท์ และออร์วิล เอาเครื่องยนต์ขนาด 12 แรงม้าใส่เข้ากับเครื่องร่อน คิตตี้ ฮอร์ค ซึ่งใช้หมุนใบพัด 2 ข้าง และตั้งชื่อให้มันว่า ฟลาย เออร์ โดย วิลเบอร์เป็นผู้ที่ทดลองขึ้นบินเป็นคนแรก

ในการทดลองบินเป็นครั้งแรกนั้น ฟลายเออร์ยกตัวลอยขึ้นจากพื้นดิน หมุนไปรอบๆแล้วตกลงพื้น ต้องเสียเวลาซ่อม 2 วัน ทั้งคู่จึงทำการทดลองต่อไปใหม่ โดยคราวนี้ เออร์วิลเป็นผู้อยู่บนเครื่องเขาพยามอีกครั้ง ฟลายเออร์ลอยขึ้นสูงจากพื้นดิน 3 เมตร ใช้ความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบินไปได้ไกล 36 เมตร

พี่น้องตระกูลไรท์ได้ทำการทดลองบินอีกครั้งในเช้าวันต่อมาจนกระทั้งลมกระโชกทำให้เครื่องพลิกคว่ำแล้วพังไปในที่สุด เขาจึงกลับไปทำงานที่ร้านจักรยานต่อ และทำการทดลองอีกครั้ง ในปีค.ศ. 1905 โดยสร้างเครื่องบินอีก 3 ลำ และทำการบินได้ครั้งละ 30 นาทีในแต่ละครั้ง

น่าประหลาดใจที่ไม่มีใครแสดงความสนใจในสิ่งที่พวกเขาทำมากนัก เพียงไม่กี่คนที่เฝ้าดูพวกเขาทำการบิน ไม่มีแม้แต่การรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ คนทั่วไปไม่คิดว่าการบินจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ใน ปีค.ศ. 1908 เขาได้ทำการบินต่อหน้าสาธารณชน โดยมีผู้โดยสารขึ้นไปคนหนึ่งบินไปเกือบ 30 นาที และกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เขาได้ทำการสาธิตการบินทั้งยุโรปและอเมริกา ในปีค.ศ. 1909 ทั้งคู่เป็นวีรบรุษของปวงชนแทนที่จะเป็นช่างซ่อมจักรยานที่ไม่มีใครรู้จัก เขาได้ตั้งโรงานผลิตเครื่องบินและได้รับความสำเร็จ ในทันที

ออร์วิลและวิลเบอร์ได้รับชัยชนะที่งดงามด้วยกันจนกระทั้ง ปีค.ศ. 1912 วิลเบอร์เป็นไข้ไทฟอยด์และถึงแก่กรรม ออร์วิล ทำงานด้วยตัวเองต่อไป แต่เขาคิดถึงน้องชายเขามากเกินไปจนไม่รู้สึกสนุกกับงานที่ทำนัก แม้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ถึงปีค.ศ. 1948 แต่เขาเลิกบินหลังจากที่วิลเบอร์ถึงแก่กรรมไป 3 ปี

Otto Fritz Meyerhof:ออตโต ฟริตซ์ เมเยอร์ฮอฟ

ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์





ออตโต ฟริตซ์ เมเยอร์ฮอฟ (Otto Fritz Meyerhof) เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี ค.ศ. 1884 ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเกิดได้ไม่นาน ครอบครัวของเขาก็ย้ายไปอยู่ที่เบอร์ลิน และได้เรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวิลเฮล์ม ยิมเนเซียม

เมื่ออายุได้ 16 ปี ออตโตก็ล้มป่วยด้วยโรคไต ต้องรักษาตัวเป็นเวลานานโดยมีมารดาเป็นผู้ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด โดยในขณะที่นอนพักรักษาตัวอยู่นั้น เขาก็ทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง พอหายป่วยเขาก็ไปสอบเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยในเมืองฟรีเบิร์ก เบอร์ลิน สตราสบูร์ก และได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก โดยเขียนวิทยานิพนธ์สาขาจิตวิทยา ต่อจากนั้นก็อุทิศตัวให้กับการศึกษาค้นคว้าทางด้านจิตวิทยาและปรัชญา ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนวิชาสรีรวิทยาในมหาวิทยาลัยที่เมืองคีลในเยอรมนี


เมื่อปี ค.ศ. 1912 ออตโตได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์(ร่วมกับ อาร์ชิบาลด์ วิเวียน ฮิลล์) ระหว่างปี ค.ศ. 1929 -1938 เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์ไกเซอร์วิลเฮล์ม ในปี ค.ศ. 1938 ขณะนาซีเรืองอำนาจเขาได้หลบหนีไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกันเชลยยิวที่ Camp des Milles ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1940 เขาได้เดินทางไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ (guest professor) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมืองฟิลาเดลเฟีย ออตโตเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อ6 ตุลาคม ค.ศ. 1951

Wednesday, November 18, 2009

Otto Lilienthal:ออตโต ลิเลียนทาล

ผู้ออกแบบเครื่องร่อน




นักประดิษฐ์และวิศวกรชาวเยอรมัน เกิดในปี ค.ศ. 1849 ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1896 ผู้นำการบินและการออกแบบเครื่องร่อน(gliding) เขาทำการทดสอบโดยการขึ้นไปบนหน้าผาและโดดลงมา ซึ่งมีอันตรายมาก ตอนนั้นหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆในหลายประเทศได้ตีพิมพ์ภาพและเรื่องราวของเขาเป็นที่อึกทึกครึกโครม จนเขาได้รับสมญานามว่า ราชาเครื่องร่อน(Glider King) ต่อมาเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในขณะทดลองบินเมื่อ 10 สิงหาคม ค.ศ.1896

Robert Kock:โรเบิร์ต ค็อค

ผู้ค้นคว้าเรื่องแบคทีเรีย




นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นคว้าในเรื่องของแบคทีเรีย เป็นผู้ที่แยกเชื้อโรคซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโรคอหิวาต์และวัณโรคได้


โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) เกิดในปี พ.ศ.2386 เขาเป็นแพทย์ที่อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกการศึกษา เกี่ยวกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาโรคในปัจจุบัน โดยเขาเริ่มศึกษาจากโรคที่เกิดกับแกะ แต่ยังไม่ทราบว่า มันคือเชื้อแอนแทรกซ์ โดยพบว่าเป็นเชื้อโรค ที่มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว


ดังนั้นค็อคจึงศึกษาต่อด้วยการเพาะเลี้ยงเชื้อแอนแทรกซ์นี้ ในอาหารเลี้ยงเชื้อบนสไลด์ ทำให้พบว่าเชื้อโรคนี้เจริญเป็นสายยาว รูปร่างเป็นรูปไข่โปร่งแสง และมีสปอร์ที่อยู่ในระยะฟักตัว โดยสปอร์นี้จะอยู่ได้นายหลายปี และสามารถเจริญเติบโตได้ เมื่ออยู่ในสภาพเหมาะสม แล้วพัฒนาเป็นแบคทีเรีย ที่มีรูปร่างเป็นแท่งกลม ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ นอกจากนี้ เขายังศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า สัตว์ชนิดต่าง ๆ จะมีอาการของโรคแตกต่างกัน และร่างกายของสัตว์ เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงแบคทีเรียให้บริสุทธิ์ได้ดี


หลังจากนั้น ค็อคมาทำงานที่สถาบันสุขภาพเยอรมัน ในกรุงเบอร์ลิน จึงสร้างห้องทดลองแบคทีเรีย และค้นพบวิธีแยกเชื้อแบคที่เรีย ที่ก่อให้เกิดโรคได้ โดยนำเทคนิคการแยกเชื้อมาใช้ศึกษาวัณโรค จนกระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2425 เขาก็สามารถแยกเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดวัณโรคได้สำเร็จ โดยสกัดสารที่เป็นของเหลวชื่อ ทูเบอร์คูลิน (tuberculin) จากแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงไว้ได้ ซึ่งช่วยตรวจสอบได้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือไม่


ระหว่างที่กำลังศึกษาวัณโรค ได้เกิดอหิวาต์ระบาดอย่างรุนแรง ในอียิปต์และแพร่สู่ยุโรป ค็อคได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบ ทำให้พบสาเหตุของโรคว่าเกิดจากแบคทีเรีย แต่เขาไม่สามารถหยุดการระบาดได้ ดังนั้นเขาจึงไปที่อินเดีย และได้ค้นพบแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดอหิวาต์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ค็อคยังศึกษาโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคเรื้อน โรคไวรัสในสัตว์เลี้ยง กาฬโรค ไข้แท็กซัส และมาลาเรีย


โดยวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง จนมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รวมทั้งปอดยังถูกทำลาย ทำให้ผอมแห้งและเสียชีวิต ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับละออง เสมหะหรือน้ำลายของผู้ป่วย แต่หลังจากมีการค้นพบตัวยาที่ใช้รักษาได้ผลดี และมีวัคซีนฉีดป้องกัน ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคได้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ได้รณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคให้สำเร็จ และได้มีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2541 ได้มีการจัดการประชุมที่กรุงลอนดอน โดยกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันวัณโรคโลก" (World TB Day) เพื่อให้ทุกประเทศ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านไม่ให้วัณโรคกลับมาระบาด เป็นโรคติดต่อเหมือนที่ผ่านมา

โรเบิร์ต ค็อค ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2453

Richard Trevithick:ริชาร์ด ทรีวิธิค

ผู้คิดสร้างรถไฟ และเครื่องจักรไอน้ำ




วิศวกรชาวอังกฤษ ชื่อ ริชาร์ด ทรีวิธิค เป็นนักประดิษฐ์และผู้คิดสร้างรถไฟ และเครื่องจักรไอน้ำ สำหรับรถไฟได้เป็นผลสำเร็จเป็นคนแรกของโลก ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของเขาชิ้นนี้ ต่อมาได้ถูกปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นจากวิศวกรชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่ง คือ ยอร์ช สตีเฟนสัน

ริชาร์ด ทรีวิธิค เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1771 ที่เมืองคอร์นวอล ประเทศอังกฤษ เขามีความสนใจในเรื่องเครื่องจักรไอน้ำมาตั้งแต่เล็ก หลังจากที่ โธมัส นิวโคเมน ได้เริ่มประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำขึ้นมาเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18 เครื่องจักรไอน้ำที่นิวโคเมนสร้างขึ้นนั้นเป็นเครื่องจักรที่ใช้งานอยู่กับที่ มีขนาดใหญ่ หนักและรูปร่างเทอะทะ

ต่อมา ริชาร์ด ทรีวิธิค ได้ทำการดัดแปลงเอาเครื่องจักรไอน้ำนั้นมาใช้กับรถไฟ โดยทำให้ขนาดเล็กลง จนเกิดเป็นเครื่องจักรไอน้ำที่ผลักดันให้รถไฟแล่นไปตามรางได้เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าจะแล่นช้า(ราว 15 ไมล์ต่อชั่วโมง) มีเสียงดังและสิ้นเปลืองค้อนข้างมาก เขาให้ชื่อมันว่า “ Catch me who can” และได้นำออกแสดงให้ผู้คนได้ชมครั้งแรกในปี ค.ศ. 1804

ริชาร์ด ทรีวิธิค ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1833

Samuel Morse:แซมมวล มอร์ส

ผู้ประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลข


เมื่อย้อนไปในราวก่อน ค. ศ. 1800 การส่งข่าวระหว่างกันในระยะไกล ยังคงเป็นการตีธง การส่งสัญญาณไฟ หรือโดยเมล์ด่วนกันอยู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1832 นั่นเองที่การส่งข่าวสารกันโดยทางกระแสไฟฟ้าได้เริ่มขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ แซมมวล มอร์ส (Samuel Morse)
นั่นเอง

แซมมวล ฟินลีย์ บรีส มอร์ส ชาวอเมริกัน เกิดในปี 1791 การคิดประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลขของเขานั้นได้เริ่มขึ้นในปี 1832 ขณะที่เขาเดินทางโดยเรือใบที่ชื่อ ซัลลีย์ และเฝ้าดูการทดลองง่ายๆของ ดร. แจคสัน ซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกันโดย ดร. แจคสัน (Dr. Jackson) เอาลวดพันรอบๆแท่งเหล็กแท่งหนึ่งและแสดงให้เห็นว่า เหล็กกลายเป็นแม่เหล็ก เนื่องจากใช้ดูดตะปูได้ แต่เมื่อตัดกระแสไฟฟ้าออก เหล็กก็หมดวามเป็นแม่เหล็กและตะปูก็ร่วงหล่นลงมา จากการทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นนี้ ทำให้แซมมวล มอร์ส เกิดความคิดเกี่ยวกับการส่งรหัส โดยอาศัยแม่เหล็กไฟฟ้า

มอร์สได้ประดิษฐ์สวิตช์ ไฟง่ายๆ จากแผ่นโลหะสปริงทองเหลือง ตรงปลายมีปุ่มไม้สำหรับกด เมื่อกดปุ่มไม้ลงจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสวิตช์ แต่เมื่อเลิกกดสวิตช์จะเปิดกระแสไฟฟ้าไม่ไหล สมัยนี้เราเรียกสวิตช์ไฟฟ้านั่นว่า “สะพานไฟของมอร์ส” ใช้ในการส่งกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาสั้นๆยาวๆตามรหัส กระแสไฟฟ้านี้จะไหลผ่าานสายลวดที่ขึงไว้ระหว่างเมืองกับเมืองหรือประเทศกับประเทศไปยังแม่เหล็กไฟฟ้าเล็กๆซึ่งมีสปริงที่เรียกว่า “อาร์เมเจอร์” ต่ออยู่ในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าสั้นๆหรือ “จุด” อาร์เมเจอร์จะถูกดูดด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าและดีดกลับเพราะสปริง ในขณะที่มีกระแสยาวๆหรือ “ขีด” อาร์เมเจอร์จะถูกดูดด้วยแม่เหล็กไฟฟ้านานหน่อยโดยใช้ออดไฟฟ้า เราอาจจะได้ยินเสสียงออดสั้นบ้างยาวบ้างสลับกันไป มอร์สเป็นผู้คิดระบบที่ใช้ รหัสสั้นๆยาวๆ แทนตัวอักษรต่างๆ เพื่อจะได้ส่งขอความไปกับเส้นลวดด้วยรหัสเช่นนี้ได้ ระบบเช่นนี้เรียกว่า “รหัสของมอร์ส”

แซมมวล มอร์ส ผู้ค้นพบ สิ่งประดิษฐ์อันทรงคุณค่าและเป็นพื้นฐานของความเจริญก้าวหน้าทางการสื่อสาร และเขาก็ได้ถึงแก่กรรมในปี ค. ศ. 1875

Sir Humphry Davy:เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี

นักเคมีผู้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย



ชาวอังกฤษ ชื่อ เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1778 ที่เมืองคอร์นวอล ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนัก บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุได้เพียง 6 ปี หลังจากจบการศึกษาแล้ว เขาก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของอยุรแพทย์คนหนึ่ง พร้อมกันนั้นเขาก็ทุ่มเทความสนใจให้กับการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเคมี จนถูกไล่ออกจากงานเนื่องจากเขาชอบทำการทดลองทางเคมีทำให้เกิดการระเบิดขึ้นบ่อยๆ

ในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้านัก โดยเฉพาะการผ่าตัดในโรงพยาบาลยังไม่มียาใดที่จะระงับความเจ็บปวดของคนไข้ในขณะผ่าตัด ฮัมฟรีย์ เดวีจึงพยายามคิดค้นหาวิธีระงับความเจ็บปวด และเขาก็ได้พบก๊าซชนิดหนึ่ง (คือไนตรัสออกไซด์) โดยการสูดเข้าไปโดยบังเอิญและค้นพบว่าก๊าซนี้ทำให้เขาหมดสติไปชั่วขณะและพอตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด และยังรู้สึกสดชื่นอีกด้วย เขาจึงเรียกมันว่า “ก๊าซหัวเราะ” (ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปใช้เป็นยาสลบ) นอกจากนั้นเขาก็ทดลองสูดก๊าซชนิดต่างๆเข้าไปจนเกิดอาการป่วยจึงต้องระงับการทดลองชั่วคราว

นอกจากการค้นพบก๊าซหัวเราะแล้ว เขายังเป็นคนแรกที่แยกองค์ประกอบของน้ำได้เป็นผลสำเร็จโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ผ่านเข้าไปในน้ำ และแยกน้ำออกเป็นก๊าซได้ 2 อย่างคือ

ออกซิเจนกับไฮโดรเจน เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกรรมวิธีสมัยใหม่ในการใช้ไฟฟ้าในการทดลองทางเคมีเป็นคนแรก

และในปี พ.ศ. 2358 ฮัมฟรีย์ เดวี ก็ได้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยเพื่อใช้ในกิจการเหมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่จดจำไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ ชาวเหมืองถ่านหิน เพราะในสมัยนั้นการขุดเหมืองถ่านหินนับเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งเพราะลึกลงไปในเหมืองนั้นจะมีก๊าซชนิดหนึ่งที่ชาวเหมืองเรียกว่า “ไฟอับ” แฝงอยู่ และมักจะเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อโดนกับเปลวไฟจากตะเกียงน้ำมันที่คนงานใช้อยู่ จากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลายครั้งนี่เอง ทำให้เจ้าของบ่อถ่านหินพากันร้องทุกข์ต่อฮัมฟรีย์ เดวีนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งยงในสมัยนั้น

ฮัมฟรีย์ เดวีจึงเดินทางไปที่เมืองนิวคาสเซิล และค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เปลวไฟจากตะเกียงน้ำมันแลบไปถึงไฟอับในเหมืองได้ ในที่สุดเขาก็ออกแบบโคมไฟป้องกันอันตรายขึ้นแบบหนึ่ง ซึ่งให้แสงสว่างและมีตะแกรงลวดเส้นบางๆ ซึ่งจะขัดขวางและป้องกันเปลวไฟมิให้แลบไปถึงไฟอับในเหมือง และแม้ว่าก๊าซจะถึงเปลวไฟทางตะแกรง แต่พื้นผิวที่เย็นของตะแกรงจะป้องกันความร้อนของเปลวไฟมิให้แลบไปถึงก๊าซข้างนอกได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นอันมาก ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก และได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนาง (เซอร์) ในปี ค.ศ. 1812

เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวีถึงแก่กรรมที่เมืองเจนีวา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 เมื่อมีอายุได้ 51 ปี

Thomas Alva Edison:โธมัส เอลวา เอดิสัน

ผู้เป็นยอดนักประดิษฐ์



ชาวอเมริกัน ชื่อ โธมัส เอลวา เอดิสัน เป็นยอดนักประดิษฐ์ ที่เริ่มประดิษฐ์สิ่งของเมื่อเขามีอายุได้เพียง 10 ขวบ สามารถสร้างเครื่องบันทึกเสียงได้แม้เขาจะเป็นคนหูหนวก และทำงานอย่างขยันขันแข็งค้นคว้าไม่หยุดหย่อน จนมีเวลานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ทั้งๆที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือมากนัก แต่สามารถจะศึกษาหาความรู้ได้จากนอกโรงเรียนและทดลองค้นคว้าด้วยตัวเองจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

โธมัส เอลวา เอดิสัน เกิดในปี ค.ศ. 1847 ที่มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อเข้าโรงเรียนครูกล่าวว่า เขาไม่สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้นหลังจากเรียนได้สามเดือน บิดามารดาก็ต้องเอาออกจากโรงเรียน แล้วมารดาก็เป็นผู้สอนแทน เธอสอนให้เขาอ่านและเขาก็สนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับเคมีตามที่เขาจะสามารถหาอ่านได้

พออายุได้ 12 ปี เขาได้ทำงานเป็นเด็กเดินข่าวของรถไฟ ขายหนังสือพิมพ์และผลไม้ เอดิสันหูตึงเพราะถูกพนักงานรถไฟคนหนึ่งกระแทกที่หูอย่างแรง เมื่อเขาทำสารเคมีชนิดหนึ่งหกลงไปจนเกิดไฟลุกในห้องเก็บของ ซึ่งเอดิสันใช้เป็นห้องทำงาน และทำการทดลองวิทยาศาสตร์ แต่ตามที่เอดิสันแถลงด้วยตัวเองนั้น เขากลับกล่าวว่า “การที่หูเขาเกิดพิการก็เพราะมีพนักงานรถไฟคนหนึ่งได้ช่วยเหลือเขา โดยจับหูเขาดึงขึ้นมาบนรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ขณะที่เขาเลื่อนไถลลงไปใต้ท้องรถ และจวนเจียนจะถูกล้อทับอยู่แล้ว” การที่เอดิสันกลายเป็นคนหูพิการมิได้ช่วยให้เขารอดชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้มีเครื่องบันทึกเสียงเกิดขึ้นอีกด้วย

จากอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้เอดิสันถูกไล่ออกและตกงาน แต่ไม่มีสิ่งใดทำให้เขาท้อแท้ได้ นายสถานีประทับใจในความเฉลียวฉลาดและไหวพริบของเขามาก จึงได้สอนเรื่องการส่งโทรเลขให้ ดังนั้นเมื่อเขาอายุได้ 15 ปี ก็ได้งานเป็นคนส่งโทรเลข เขาได้ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงในการส่งข่าวโทรเลขในปี ค.ศ.1889 ขณะอายุ 21 ปี และได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขา เอดิสันได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ของเขามากกว่า 1,200 อย่าง

เขาได้ประดิษฐ์สิ่งสำคัญขึ้นหลายอย่างเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า ความจริงเขาเป็นคนที่มีทักษะที่จะปฎิบัติตามความคิดใหม่ๆ ได้ทุกอย่าง เราระลึกถึงเอดิสันในเรื่องแสงไฟฟ้า เพราะขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในการให้แสงสว่างในบ้านธรรมดาได้ เนื่องจากยังไม่มีหลอดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ภายในบ้านยังต้องใช้เทียนหรือตะเกียงน้ำมัน และประมาณปี ค.ศ.1850 จึงเริ่มใช้ก๊าซ ตอนต้นศตวรรษที่ 19 เซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี่ ได้ประดิษฐ์ตะเกียงที่ทำให้เกิดแสงโดยผ่านกระแสไฟฟ้าไปยังแท่งคาร์บอน 2 แท่ง ทำให้เกิดความสว่างขึ้น แต่ก็ใช้ให้แสงสว่างบนท้องถนน เนื่องจากมีขนาดใหญ่และเทอะทะ ไม่เหมาะที่จะใช้ในบ้านเรือน

ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 นักวิทยาศาสตร์โจเซฟ สวอน มาจากเมืองซันเดอร์แลนด์ ได้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรก เขาใช้แท่งคาร์บอนเล็กๆ ติดในกระเปาะแก้ว และทำให้แท่งคาร์บอนร้อนด้วยไฟฟ้า ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น คาร์บอนไม่เหมือนกับโลหะทั้งหลาย สามารถทำให้ร้อนพอที่จะให้ความสว่างโดยไม่หลอมละลาย แต่หลอดไฟฟ้าของสวอนให้แสงสว่างน้อยเกินไป ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เอดิสันซึ่งทำงานด้านเดียวกับสวอนในสหรัฐอเมริกา มองเห็นที่จะปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของสวอนให้ดีขึ้นได้ ถ้าทำให้หลอดแห้วเป็นสูญญากาศ แท่งคาร์บอนหรือเส้นลวดก็จะเกิดแสงสว่างที่สว่างกว่าเก่า โดยที่ไม่ทำให้หลอดแก้วร้อนเกินไป ดังนั้นเอดิสันและโจเซฟ สวอน จึงได้รับเกียรติร่วมกันในสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญนี้

เอดิสันได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ กว่า 1,200 ชนิด ผลงานของเขา อาทิเช่น แสงไฟฟ้า หีบเสียง เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ เอดีสันทำงานอย่างขยันขันแข็ง คืนหนึ่งๆ เขานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ในตอนปลายของชีวิตสุขภาพของเขาทรุดโทรมลงไปมาก และถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1931

Wilhelm Korad Roentgen:วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน

ผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์


นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ วิลเฮล์ม รืนต์เกิน(Wilhelm Konrad Roentgen) เป็นผู้ค้นพบรังสีประหลาดที่ทำให้คุณประโยชน์ให้แก่วงการแพทย์ และเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่หลวงโดยบังเอิญ และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล เมื่อปีค.ศ. 1901 โดยได้รับเหรียญรัมฟอร์ด ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดในปี 1896

วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน เกิดวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1845 ที่เมืองเลนเนปในโรน์แลนด์ เป็นบุตรคนเดียวของนักอุตสาหกรรมและการค้าผ้า เขาได้รับการศึกษาครั้งแรกในฮอลแลนด์และในซูริค เขาศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1902 รืนต์เกินค้นพบรังสีเอ็กซ์โดยบังเอิญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1895 ขณะที่เขาทำการทดลองโดยเอากระดาษแข็งสีดำสนิทหุ้มหลอดแก้วไว้ไม่ให้แสงสว่างลอดเข้าออกได้ และส่งกระแสไฟฟ้าผ่านก๊าซต่างๆ ในหลอดแก้วพิเศษ ซึ่งถูกดูดเอาอากาศออก

ในวันหนึ่ง รืนต์เกิน สังเกตว่าแม้หลอดจะถูกปกคลุมด้วยกระดาษสีดำ การแผ่รังสีบางอย่างสามารถจะส่งผ่านออกมาได้และทำให้ฉากที่วางอยู่ใกล้สว่างขึ้น รืนต์เกินไม่สามารถมองเห็นว่ามีอะไรออกมาจากหลอด แต่เขาค้นพบว่า ถ้าเขาวางฉากในห้องถัดไปซึ่งอยู่คนละด้านและปิดประตู รังสีก็ดูเหมือนจะมีผลต่อฉาก

ดังนั้นรังสีไม่เพียงแต่สามารถผ่านทะลุกระดาษดำเท่านั้น ยังผ่านไม้ไปได้ด้วย สิ่งต่อมาที่เขาค้นพบคือ ถ้าเขาวางมือกั้นระหว่างรังสีและแผ่นถ่ายภาพ รังสีจะบันทึกเงาของโครงกระดูกของมือเขาบนแผ่นถ่ายภาพนั้น แสดงว่ารังสีนี้สามารถส่องผ่านเนื้อของเขาเช่นเดียวกับที่ส่องผ่านกระดาษดำ

รืนต์เกินทดลองดูอีกภายใน 2 – 3 นาที ก็หายสงสัยเขาจึงประกาศการค้นพบของเขาโดยให้ชื่อแสงนี้ว่า “รังสีเอ็กซ์” ตั้งแต่รืนต์เกินพบรังสีเอ็กซ์มาจนถึงปัจจุบัน รังสีนี้ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวงการแพทย์ซึ่งค้นพบว่านอกจากรังสีเอ็กซ์จะช่วยให้แพทย์ใช้ประโยชน์ในการตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะภายในของคนไข้แล้ว รังสีนี้อาจจะใช้ได้ผลในการบำบัดโรคมะเร็งและกำจัดความเติบโตผิดปกติของเซลบางจำพวกด้วยเหมือนกัน นอกจากวงการแพทย์แล้ว รังสีเอ็กซ์ยังใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมวิศวกรรม การสืบสวน และวงการวิทยาศาสตร์หลายสาขาด้วยกัน

วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน ผู้ค้นพบสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างมหาศาล ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1913 ด้วยโรคมะเร็ง

William Harvey:วิลเลียม ฮาร์วีย์

ผู้ค้นพบทฤษฎีการไหลเวียนของโลหิตเป็นคนแรก




ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 1,400 ปีมาแล้ว คนเราเชื่อกันว่าโลหิตไหลกลับไปกลับมาทั่วตลอดทั้งร่างกายเหมือนกับคลื่นในทะเล ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า เส้นเลือดแดงที่ไหลมาจากหัวใจ มีผนังหนาและแข็งแรงเป็นตัวส่งโลหิตไปทั่งร่างกาย มิใช่จากการเต้นของหัวใจ ส่วนเส้นเลือดดำถูกสร้างขึ้นในตับ แล้วถูกส่งเข้าไปในหัวใจผสมเข้ากับเส้นเลือดแดงที่นี่ แล้วผสมกับอากาศที่มาจากปอด ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้ถูกหักล้างด้วยการค้นพบของวิลเลียม ฮาร์วีย์ ผู้ค้นพบทฤษฎีการไหลเวียนของโลหิตเป็นคนแรก

วิลเลี่ยม ฮาร์วีย์ เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี ค.ศ. 1578 ที่โฟล์คสโตนเคน ประเทศอังกฤษ เป็นลูกคนโตในทั้งหมด 9 คน ของโทมัส ฮาร์วีย์ นายกเทศมนตรีเมือง ฮาร์วีย์ได้รับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนคิงส์สคูล ในแคนเทอร์เบอรี่ และได้รับทุนเรียนฟรีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาแพทย์เนื่องจากคะแนนที่ดีเด่นของเขา แต่การศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีการบรรยายมากเกินไป และการผ่าตัดศพให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าจริง ๆ มีน้อย นักศึกษาจำนวนมากจากเคมบริดจ์ได้เป็นนายแพทย์โดยที่ไม่เคยเห็นสรีระภายในของคนไข้เลย วิลเลียม ฮาร์วีย์ จึงเดินทางไป พาดัว ประเทศอิตาลี ในปี 1600 ซึ่งมีโรงพยาบาลที่นักศึกษาสามารถตรวจดูและวิเคราะห์วิจัยถึงโรคภัยของคนไข้ได้ อาจารย์ที่ชื่อเสียงมากของโรงเรียนการแพทย์สมัยนั้น คือ ฟาบริเซียส เขาเป็นคนที่เริ่มศึกษาเรื่องโลหิตอย่างจริงจังที่มหาวิทยาลัยพาดัว และค้นพบลิ้นปิดเปิดในเส้นเลือดดำ เขาสนใจในเรื่องทารกในครรภ์ด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ฮาร์วีย์ได้ค้นคว้าต่อมา และก้าวหน้าไปมากในช่วงหลังของชีวิตของเขา ต่อมาในปี 1602 เมื่อเขามีอายุได้ 24 ปี เขาก็จบการศึกษาและได้งานเป็นนายแพทย์ของโรงพยาบาลเซนท์บาร์โธโลมิวในกรุงลอนดอน และได้รับแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง แต่เขาก็ยังมีความสงสัยว่าเลือดไหลหมุนเวียนได้อย่างไร

วิลเลียมได้เริ่มการทดลองโดยใช้งูเป็นๆ ผูกเส้นเลือดดำจากหัวใจ และเฝ้าสังเกตดูว่าเส้นเลือดดำช่วงระหว่างเชือกผูกกับหัวใจเล็กลงและอ่อนลงอย่างไร แต่เมื่อแก้เชือกออกเส้นโลหิตก็กลับคืนสู่สภาพปกติ เขามีเข้าใจถึงการทำงานของหัวใจ คือเริ่มจากหัวใจห้องข้างบน บีบโลหิตออกไปยังหัวใจห้องใน เมื่อหัวใจเต้น และส่งโลหิตไปยังสิ่งที่ฮาร์วีย์เรียกว่า เส้นเลือดดำที่เหมือนเส้นเลือดแดง (วีนาคาวา) และส่งไปยังเส้นโลหิตแดงใหญ่ที่ผ่านทางซีกซ้ายของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ส่งโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ในที่สุดเขาพบว่า โลหิตถูกส่งไปยังปอดเพื่อรับการฟอกด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ จากนั้นเส้นโลหิตแดงจะนำโลหิตที่ได้รับการฟอกแล้ว ไปเลี้ยงตลอดทั้งร่างกาย โลหิตไหลกลับโดยทางเส้นเลือดดำ ซึ่งมีผนังบางและลิ้นปิดเปิด กลังไปยังหัวใจ หรืออีกนัยหนึ่ง การไหลเวียนของโลหิตเป็นแบบวงกลม มิใช่ไหลถอยหลังและไปข้างหน้ากลับไปกลับมาเหมือนกับคลื่นในทะเลซึ่งเป็นความเชื่อก่อนหน้านี้ แต่ในที่สุดทุกคนก็ยอมรับการค้นพบของเขา และเมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ตั้งให้เขาเป็นแพทย์ประจำพระองค์ และเขาก็ได้เขียนตำราเกี่ยวกับทฤษฎีการไหลเวียนของโลหิตนี้ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภา ฮาร์วีย์มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มาก จึงได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์แม้กระทั่งออกไปสนามรบกับพระองค์ด้วย แต่เมื่อสงครามสงบพระเจ้าชาลส์ถูกประหาร ฮาร์วีย์อายุประมาณ 70 ปี แต่สมองเขายังปราดเปรื่องเช่นเดิม เขาจึงกลับไปทำงานที่ลอนดอน ต่อมาสุขภาพของเขาทรุดลงและในเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 1657 เมื่ออายุเกือบครบ 79 ปี เขาก็ถึงแก่กรรม ซึ่งนับว่าการค้นพบการหมุนเวียนของโลหิตของฮาร์วีย์นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของวงการแพทย์สมัยใหม่เลย