Sunday, November 28, 2010

John Baird:จอห์น เบียร์ด

John Baird


จอห์น เบียร์ด









----------------------------------------------------------------------



สิ่งประดิษฐ์หลายอย่างบางครั้งก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์เป็นคนแรก เพราะเป็นผลงานของหลายๆคน นักวิทยาศาสตร์บางท่านก็เป็นผู้สานงานต่อผลงานของคนอื่นจนสำเร็จ อาทิ เครื่องรับโทรทัศน์ ที่เป็นผลงานที่มาจากหลายคน


แต่บุคคลแรกที่ได้แสดงให้สาธารณชนได้ชมเป็นคนแรกในปี 1915 ก็คือ จอห์น โลกี้ เบียร์ด นั่นเอง



จอห์น โลกี้ เบียร์ด เกิดในปี ค.ศ. 1888 เป็นบุตรชายของเสมียนที่เข้มงวด ในวัยเด็กเขามักจะเจ็บป่วยเสมอ และไม่ชอบไปโรงเรียน แต่กลับชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เช่น เครื่องร่อนที่ทำให้เขาบาดเจ็บเพราะตกจากหลังคาบ้าน


หลังจากเรียนจบจากวิศวกรรมไฟฟ้าจากกลาสโกว์แล้วก็เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยวิศวกรอยู่พักหนึ่ง ก็ต้องออกจากงานเพราะหยุดงานบ่อยครั้ง เนื่องจากอาการเจ็บป่วย จึงทำการหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่น อาทิ ทำของขายเช่น แยมและสบู่ แต่ก็ประสบความล้มเหลว



แรงบันดาลใจให้จอห์น เบียร์ด คิดสร้างโทรทัศน์ ก็เนื่องมาจากการที่ถูกลิเอลโม มาร์โคนี ได้ประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณและรับสัญญาณวิทยุทางไกลเป็นผลสำเร็จ ความคิดนี้ทำให้เบียร์ด จินตนาการถึงการส่งภาพด้วยคลื่นวิทยุขึ้นมาบ้าง



นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ค้นพบว่าเมื่อแสงตกลงมาบนวัตถุที่ไวต่อแสงที่เรียกว่า ซีเลเนียม จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ถ้าแสงสว่างมากขึ้น กระแสไฟฟ้าก็แรงขึ้นด้วย ภาพถ่ายที่ดีมักจะมีบริเวณสว่างและเงาที่มีความเข้มต่างๆกัน



ดังนั้นถ้านำภาพถ่ายมาวางใกล้แผ่นซีเลเนียมและให้ลำแสงส่องไปยังภาพถ่ายและเคลื่อนที่ไปทั่วๆภาพ ส่วนสว่างและมืดของภาพจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากำลังต่างๆกันจากแผ่นซีเลเนียม วิธีการนี้เรียกว่าการกวาดภาพ จากนั้นกระแสไฟฟ้าจะป้อนไปยังเครื่องแปลสัญญาณแล้วส่งไปยังสายไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุซึ่งจะมีเครื่องรับสัญญาณจับสัญญาณเหล่านี้แล้วเปลี่ยนให้เป็นแสงอีก ทำให้เกิดภาพเดิมขึ้นอีก


วิธีการนี้เป็นการผลิตภาพนิ่งซึ่งเป็นวิธีที่หนังสือพิมพ์ได้รับภาพข่าวจากทั่วโลก



แต่สำหรับโทรทัศน์ภาพต้องมีการเคลื่อนไหว เราได้อ่านวิธีการทำให้เห็นภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ที่ฉายบนจอ โดยการฉายภาพหลายๆภาพติดต่อกันให้มีความเร็วพอที่ตามนุษย์จะมองไม่เห็นรอยต่อระหว่างภาพทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นภาพต่อเนื่อง ในโทรทัศน์ก็ใช้วิธีเดียวกันนั้น แต่มีปัญหาที่ว่าต้องกวาดภาพไป และเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้า เปลี่ยนสัญญาณและเปลี่ยนกลับเป็นภาพซึ่งต้องทำให้ได้ 20 ภาพต่อวินาที เพื่อให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวนั้นต่อเนื่องกัน



เบียร์ดทำงานในห้องนอน เขาสร้างเครื่องโทรทัศน์เป็นเครื่องแรกในปี ค.ศ. 1925 และกวาดภาพด้วยจานใบหนึ่งซึ่งเขาเจาะรูหลายๆรู แล้วหมุนจานอย่างเร็วบนแกนซึ่งใช้เข็มถักไหมพรม เขาฉายแสงไปบนจานที่หมุนทำให้ส่องภาพไปตามลำดับและเปลี่ยนแสงเหล่านั้น ให้เป็นกระแสไฟฟ้าซึ่งจะถูกเปลี่ยนกลับให้เป็นภาพในเครื่องรับสัญญาณวางอยู่ห่างจากเครื่องส่งเพียง 1 เมตรกว่า



หลังจากการทำงานนี้ไม่นานเขาก็เดินทางไปร้านเซลฟริดจ์ในลอนดอนแล้วสาธิตให้เจ้าของชม ในปี ค.ศ. 1925 เจ้าของร้านทำสัญญาจ้างให้เขาออกโทรทัศน์วันละ 3 รายการในร้าน ภาพที่เห็นไม่ชัดนัก แต่เครื่องก็ทำงานได้ และประชาชนให้ความสนใจ ในปีต่อมาเขาสาธิตให้หนังสือพิมพ์ชม จากนั้นเขาไปยัง บีบีซี และถึงแม้ว่าภาพของเขาจะไม่ชัดเจน แต่บีบีซีก็ให้กำลังใจสนับสนุน



ในปี ค.ศ. 1929 มีรายการโทรทัศน์ของบีบีซีส่งออกอากาศ และเริ่มมีการสร้างเครื่องรับโทรทัศน์ ในปี ค.ศ. 1930 เริ่มมีเสียง และเริ่มถ่ายทอดการแสดงละครทางโทรทัศน์ ในปีต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแข่งม้าเดอร์บี้ทางโทรทัศน์ในกรุงลอนดอน



จอห์น เบียร์ด ถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะที่เขากำลังคิดและพัฒนาในการส่งภาพเป็นสีในปี ค.ศ. 1946

John Dalton:จอห์น ดาลตัน

John Dalton


จอห์น ดาลตัน







-------------------------------------------------------------------------



จอห์น ดาลตัน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1766 ในประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาโดยได้รับปริญยาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาก็เริ่มต้นด้วยงานในด้านอุตุนิยมวิทยา โดยได้ทำบันทึกกาลอากาศประจำวันเป็นเวลานานถึง 46 ปี



และจากการที่เขาเป็นคนตาบอดสี ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับเขาในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงสีของสารเคมี เขาจึงได้ทำการค้นคว้าทางด้านการมีตาบอดสีเป็นคนแรก และเป็นคนแรกที่ให้ทฤษฎีทางอะตอมของสาร ความคิดของดอลตันมีว่า “ธาตุทั้งหลายประกอบด้วยอะตอมที่อาจสลายได้ แต่ไม่อาจแบ่งต่อไปได้อีก และมีขนาดเล็กมาก” และ “สารทั้งหลายประกอบด้วยการวมตัวของอะตอมเหล่านี้” เป็นที่ยอมรับของนักเคมีส่วนมาก



จอห์น ดอลตัน ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1844 ขณะมีอายุได้ 78 ปี

Joseph Priesley:โจเซฟ พริสต์เลย์

Joseph Priesley


โจเซฟ พริสต์เลย์







-------------------------------------------------------------------------



นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบก๊าซออกซิเจนเป็นคนแรก เป็นผู้ที่มีมันสมองพิเศษ เรียนรู้ได้เร็ว แต่ถูกชาวอังกฤษต่อต้าน เพราะเหตุที่เขานิยมการปฏิวัติในฝรั่งเศสและอเมริกา จนถูกขู่ทำร้ายร่างกายจนต้องอพยพไปจากอังกฤษไปอยู่อเมริกาตลอดชีวิต



โจเซฟ พริสต์เลย์ เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1733 ที่ยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวช่างทอผ้า เมื่อเป็นเด็กค่อนข้างบอบบางขี้โรค แต่สนใจในทางตำรับตำราและภาษาศาสตร์ทุกชนิด ภายหลังจบการศึกษาเขาได้ทำงานเป็นครูสอนทางด้านภาษาที่วอร์ชิงตัน



ในสถาบันแห่งนี้ โจเซฟ ได้เคยฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิชาเคมีบ่อยๆ ประกอบกับได้เคยไปชมกิจการของโรงงานทำเบียร์แห่งหนึ่ง ได้เห็นการหมักและผลิตเบียร์ด้วยเชื้อ โดยมีก๊าซชนิดหนึ่งมีกลิ่นออกมาคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์นั่นเอง เมื่อเขาได้ทำการทดสอบคุณสมบัติของก๊าซนี้ดูก็พบว่าเป็นก๊าซไม่ติดไฟ เขาจึงคิดที่จะค้นหาก๊าซอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเองจากการทดลอง



ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1774 เขาจึงค้นพบก๊าซออกซิเจน จากการเผาผงปรอททองแดงด้วยเลนส์รวมแสง อันมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว วิธีทำของเขาก็คือ ให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านเลนส์ มารวมกันที่จุดๆหนึ่ง แล้วเอาผงปรอททองแดงมาวางไว้ที่จุดนี้ ผงปรอททองแดงถูกแผดเผาจากความร้อนของดวงอาทิตย์หนักเข้าไม่ช้าก็ละลายตัว ทำให้เกิดก๊าซชนิดหนึ่งระเหยออกมา ก๊าซชนิดนี้ไม่มีสี แต่มีคุณสมบัติช่วยให้ไฟติด มีแสงสว่างมากกว่าธรรมดา ทั้งยังช่วยให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้นานกว่าอากาศธรรมดา เขาขนานนามก๊าซชนิดว่า “Dephlogisticated Air “ แต่ต่อมาภายหลัง ลาวัวซิเอร์ได้ขนานนามก๊าซนี้ใหม่ว่า “ออกซิเจน” (Oxygen)



นอกจากนั้น โจเซฟ พริสต์เลย์ ยังพบวิธีจับก๊าซโดยไล่ที่น้ำได้พบออกไซน์ของไนโตรเจน พบก๊าซของกรดเกลือ ก๊าซแอมโมเนีย ยิ่งกว่านั้น เขายังทดลองให้เห็นว่า สารอินทรีย์ทุกชนิดเมื่อเผาไหม้แล้ว จะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ทุกครั้ง เขาหาวิธีเผาสารต่างๆ แล้วคอยจับก๊าซเก็บไว้ได้หลายตัวอย่าง



โจเซฟ พริสต์เลย์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1804

Julius Wagner-Jauregg:จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์

Julius Wagner-Jauregg


จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์











----------------------------------------------------------------------



จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี ค.ศ. 1857 ที่เมืองเวลส์ ประเทศออสเตรีย ได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันพยาธิวิทยา จนได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1880



งานชิ้นสำคัญที่จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ ศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดชีวิตก็คือการรักษาโรคจิต โดยการชักนำให้เกิดเป็นไข้ในปี ค.ศ. 1917 เขาลองเพาะเชื้อไข้มาลาเรีย และพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลสำเร็จในการรักษาอาการอัมพาต ชนิดเดเมนเทียพาราไลติกา (dementia paralytica) โดยการเอาเลือดจากผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียไปฉีดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตเก้าคน ทั้งเก้าคนเป็นไข้มาลาเรีย แต่อาการอัมพาตดีขึ้น อีกสามคนหายขาด การค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1927



จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปี ค.ศ. 1930 รวมอายุได้ 73ปี

Karl Landsteiner:คาร์ล แลนสไตเนอร์

Karl Landsteiner


คาร์ล แลนสไตเนอร์







-------------------------------------------------------------------------



คาร์ล แลนสไตเนอร์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1868 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในครอบครัวนักกฎหมาย และนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น พออายุได้ 6 ขวบบิดาก็เสียชีวิต



คาร์ลมีความสนใจในทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้น เขาได้เข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จนสำเร็จเป็นนายแพทย์เมื่อ ปี ค.ศ. 1891 ต่อจากนั้นก็ทำงานทางด้านวิจัยและค้นคว้าทางการแพทย์เกี่ยวกับแบคทีเรียและพยาธิวิทยาในโรงพยาบาลที่กรุงเวียนนา และเริ่มสนใจเรื่องรากฐานของภูมิคุ้มกันและพยาธิวิทยา



ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่เขาทำการค้นคว้าวิจัยนั้น เขาได้เขียนตำราและเอกสารทางการแพทย์ออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มีประโยชน์และมีความสำคัญทางวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นอันมาก อาทิเช่น ลักษณะของเนื้อเยื่อที่เป็นโรค เรื่องภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย โรคเลือดในปัสสาวะ สาเหตุของโรคไขสันหลังอักเสบและภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคนี้ และการค้นพบที่ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ การค้นพบชนิดของหมู่เลือดในคน



ในสมัยนั้นการให้เลือดแก่ผู้ป่วยยังไม่ค่อยได้รับผลสำเร็จนัก เพราะเลือดที่ให้มักตกตะกอนในสายเลือดของผู้ป่วย และเม็ดเลือดมักจะแตก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อค เป็นดีซ่าน คาร์ลให้ข้ออธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเม็ดเลือดในคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างเม็ดเลือดที่ต่างชนิดกันและเกิดการตกตะกอนขึ้น



ในปี ค.ศ. 1909 เขาได้ตีพิมพ์เอกสารแสดงให้เห็นว่าเลือดของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดคือ เอ บี เอบี และโอ และได้ชี้แจงว่าการถ่ายเลือดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งที่มีกลุ่มเลือดเดียวกัน เลือดจะไม่เกิดปฏิกิริยาตกตะกอน นอกจากว่าบุคคลทั้งสองจะมีเลือดคนละกลุ่ม ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล



คาร์ล แลนสไตเนอร์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1943 ด้วยโรคหัวใจ รวมอายุได้ 75 ปี

Lavoiser:ลาวัวซิเอร์

Lavoiser


ลาวัวซิเอร์







-------------------------------------------------------------------------



ลาวัวซิเอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองผู้อธิบายถึงทฤษฎีการเผาไหม้เป็นคนแรก และเป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน เมื่ออายุเพียง 51 ปี ถ้าเขามีอายุยาวนานกว่านี้ โลกเราอาจมีสิ่งแปลกๆใหม่ๆ เกิดขึ้นมากกว่านี้ก็ได้ ชีวิตของเขาจึงเป็นบทเรียนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้คิดว่า บางครั้งตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่เหมาะสำหรับนักวิทยาศาสตร์เลย


อังตวน ลาวัวซิเอร์ เกิดในปารีสเมื่อ ค.ศ. 1743 เป็นบุตรของพ่อค้าผู้มั่งคั่ง เมื่ออายุ 13 ปีเขาเคยตั่งใจที่จะเป็นนักเขียนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงหันกลับมาเริ่มสนใจวิชากฎหมาย ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และธรณีวิทยาแทน


ลาวัวซิเอร์ได้รับการศึกษาอย่างดี บิดาได้ส่งให้เขาไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาซาแรง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในปารีสสมัยนั้น วิชาที่เขาสนใจที่สุดคือ วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเคมี พอจบการศึกษาเขาได้เข้ารับราชการในแผนกจับเก็บภาษีของรัฐบาลฝรั่งเศส และได้รับรางวัลจากราชบัณฑิตยสมาคมวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้ค้นหาวิธีจุดตะเกียงตามถนนในปารีสได้สำเร็จ



ปี ค.ศ. 1768 เขาได้รับการเลือกเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสมาคมวิทยาศาสตร์ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งตามกฎมีว่าผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกได้จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี แต่ลาวัวซิเอร์ในขณะนั้นมีอายุเพียง 25 ปี ทั้งนี้เพราะผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เขาได้ทำไว้นั้นเอง


ผลงานที่ลาวัวซิเอร์ได้รับเกียรติยศและชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “ทฤษฎีแห่งการเผาไหม้”หรือ “สันดาปทฤษฎี “ เขาเป็นผู้อธิบายปรากฎการการเผาไหม้ของวัตถุต่างๆ ได้ละเอียดชัดเจน เขาอธิบายว่า “การลุกไหม้คือการรวมตัวของสารกับออกซิเจนในอากาศ และถ้าไม้มีออกซิเจนการลุกไหม้จะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ทำการทดลองเกี่ยวกับการเผาไหม้เขาได้ทดลองเกี่ยวกับส่วนประกอบของน้ำด้วย และได้ทำตามความคิดของ โรเบิร์ต บอย์ด ในการที่จะหาว่าสารนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือความแตกต่างระหว่างสารผสมและสารประกอบ ทุกสิ่งที่เขาทำจะละเอียดถี่ถ้วนและเป็นระบบ



ลาวัวซิเอร์ ถูกประหารชีวิต ที่กลางเมืองปารีสด้วย กิโยติน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1794 ขณะอายุได้ 51 ปี ในข้อหาว่ากดขี่ข่มเหงด้วยการขูดรีดภาษี

Leonardo da Vinci:ลีโอนาร์โด ดาร์ วินชี

Leonardo da Vinci


ลีโอนาร์โด ดาร์ วินชี








--------------------------------------------------------------------------------



ลีโอนาร์โด ดาร์ วินชี เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีพรสวรรค์หลายด้าน เขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักสังเกต นักทดลอง นักประดิษฐ์ นักดาราศาสตร์ นักสถาปัตยกรรม เป็นคนแรกที่คิดถึง ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะทำการบินได้เหมือนนก และเป็นคนวาดภาพโมนาลิซ่าที่มีชื่อเสียง เลโอนาร์โด ดา วินซี เกิดเมื่อปี ค.ศ.1452 ในประเทศอิตาลี เมื่อวัยเยาว์เขาเป็นเด็กที่ชอบสะสมแมลง และใช้เวลาว่างวาดรูป สัตว์เหล่านั้นได้เหมือนจริง อันเป็นรากฐานที่ทำให้เขาสร้างผลงานอันลือลั่นคือ ภาพโมนาลิซ่า ที่กล่าวกันว่ามีลักษณะการยิ้มที่เป็นปริศนาบางคน กล่าวว่าเขาจำลองแบบการยิ้มมาจากยิ้มของมารดา นอกจากงานวาดแล้วเขายังสังเกตการบินของนกและบันทึกไว้ว่า “การเคลื่อนปีกของนกมีความสมดุลของมันเอง ซึ่งมนุษย์ก็อาจหาดุลนั้นได้” จากสมมติฐานอันนี้เองที่เขาได้ร่างโครงแบบของเครื่องร่อนขึ้น ซึ่งมันก็เป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาได้ศึกษาจนสร้าง เครื่องบินได้ในที่สุดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเขาก้าวหน้าไปไกลมาก เขาได้ร่างโครงสร้างของเฮลิคอปเตอร์ เครื่องร่อน เรือดำน้ำ ลูก ระเบิดไฟ เครื่องรีดเหล็ก ออกแบบสะพาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้เกิดขึ้นมาจริงใน300-400 ปีต่อมา ดาวินซีถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1519 ที่ฝรั่งเศส ก่อนตายเขาปรับทุกข์กับเพื่อนคนหนึ่งว่า เขายังทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่างเลย

Lord Ernest Rutherford:ลอร์ดเออร์เนสท์ รัทธอร์ฟอร์ด

Lord Ernest Rutherford


ลอร์ดเออร์เนสท์ รัทธอร์ฟอร์ด





---------------------------------------------------------------------



ลอร์ดเออร์เนสท์ รัทธอร์ฟอร์ด เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการทดลองชาวนิวซีแลนด์ เกิดในปี ค.ศ. 1871 และถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1939 งานชิ้นสำคัญของเขาคืองานเกี่ยวกับสสารกัมมันตรังสีและโครงสร้างของอะตอม

Louis-Jacques-Mandé Daguerre:หลุยส์ ยี. แอม. ดาแกร์

Louis-Jacques-Mandé Daguerre


หลุยส์ ยี. แอม. ดาแกร์







--------------------------------------------------------------------------------



หลุยส์ ยี. แอม. ดาแกร์ เป็นเพื่อนร่วมงานของยี. แอม. นีฟ ที่สานต่องานของนีฟจนประสบผลสำเร็จ ในการถ่ายภาพที่ได้ภาพคมชัดกว่า และใช้เวลาในการถ่ายน้อยกว่านีฟ



หลุยส์ ดาแกร์ เกิดในปี 1787 ที่ฝรั่งเศส เขาเริ่มอาชีพของเขาโดยเป็นคนเก็บภาษี และเป็นคนวาดภาพ เขาสนใจในการถ่ายภาพมาก จึงมาร่วมงานกับนีฟ หลังจากนีฟถึงแก่กรรมได้ 4 ปี ดาแกร์ก็ทำต่อ เขาพบว่า ถ้าใช้แผ่นเคลือบด้วยเงินและสารไอโอดีน จะได้ภาพที่ชัดเจนกว่าเดิม และใช้เวลาถ่ายน้อยกว่าคือ 20 นาที ในปี ค.ศ. 1839 เขาก็ได้แสดงวิธีการนี้ต่อผู้นำวิทยาศาสตร์ในฝรั่งเศส จนได้รับรางวัลถึง 6,000 ฟรังซ์


ดาแกร์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1851

Louis Pasteur: หลุยส์ ปาสเตอร์

Louis Pasteur


หลุยส์ ปาสเตอร์







--------------------------------------------------------------------------------



ศาสตราจารย์หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบวัคซีนในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า และวิธีรักษาสิ่งของมิให้เน่าเสียโดยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ หลุยส์ ปาสเตอร์ เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ เขารีบรุดเข้าไปที่บ้านหลังเล็ก ๆ ในเมืองอะบออิส ใบหน้าของเขาซีดเผือด “แม่ครับ หมาบ้ากัดเฮนรี่เพื่อนของผม และตอนนี้พวกเขากกลังเอาเล็กเผาไฟนาบแผลของเขา มันน่ากลัวมาก ทำไมเขาต้องทำให้เฮนรี่เจ็บปวดอย่างนั้น” แม่เขาบอกกับเขา ว่า “โรคกลัวน้ำจ๊ะ การเอาเหล็กเผาไฟนาบลงบนแผลเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เฮนรี่รอดผลจากการติดเชื้อโรคนั้นได้ ถ้าหากเขาติดเชื้อก็จะไม่มีใครรักษาเขาได้อีก” เฮนรี่ได้รับเชื้อโรคกลัวน้ำ และเสียชีวิตลงอย่างเจ็บปวดทรมานในอีกหลายวันต่อมา หลุยส์ ปาสเตอร์ไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้นเลย “สักวันหนึ่ง” เขาคิด “ฉันจะต้องทำอะไรบ้างอย่างเพื่อช่วยผู้คนเช่นเฮนรี่” และสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นหาวิธีรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลุยส์ ปาสเตอร์ก็ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1885 ทั้งยังค้นพบวิธีรักษาสิ่งของไม่เน่าเสียโดยวิธพาสเจอร์ไรส์อีกด้วย



หลุยส์ ปาสเตอร์ เกิดในปี ค.ศ. 1822 ที่เมืองเล็กๆ ในประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาซึ่งเป็นคนฟอกหนังต้องการให้หลุยส์เป็นครู จึงส่งเขาไปเรียนที่กรุงปารีสจนสำเร็จการศึกษา และไดเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เมื่ออายุได้ 32 ปี เขาได้แต่งงานกับลูกสาวของคณบดีของมหาวิทยาลัยสตราสเบิร์ก



จุลชีพเป็นสิ่งที่หลุยส์สนใจมาก ทุกคนรู้ว่าเนื้อจะเน่าเปื่อยถ้าเก็บไว้ในกลางแจ้ง และทุกคนสามารถมองเห็นตัวจุลชีพในเนื้อได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากๆ แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจุลชีพมาจากที่ใด นักวิทยาศาสตร์หัวโบราณคิดว่าเนื้อเน่าทำให้เกิดพวกมัน ความคิดเห็นอย่างอื่นเป็นสิ่งเหลวไหล แต่หลุยส์ไม่ค่อยแน่ใจนัก “จุลชีพแพร่พันธุ์ใช่ไหม ใช่ แต่พวกมันไปอยูในเนื้อได้อย่างไรล่ะ” เขาตั้งข้อสงสัย จากนั้นเขากลับไปยังมหาวิทยาลัยในกรุงปารีส ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการทางวิชาวิทยาศาสตร์ ในที่สุดเขาก็สามารถใช้เวลาทั้งหมดของเขาทำการค้นคว้าเรื่องจุลชีพ พ่อครัวของหลุยส์ต้องยุ่งอยู่กับการต้มซุปเนื้อ มิใช่สำหรับอาหารค่ำแต่ใช้สำหรับการทดลองของหลุยส์ เขาค้นพบว่า จุลชีพนั้นเกิดจากฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศมิใช่มาจากอาหารที่บูดเน่า เขาพิสูจน์โดยการนำเอาขวดซุปเนื้อขึ้นไปบนภูเขาแอลป์ ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์และไม่มีฝุ่นละออง เขาเปิดขวดเหล่านั้นและปล่อยทิ้งไว้ เขาพูดถูกไม่มีฝุ่นละออง และน้ำซุปไม่เสีย บนหิ้งต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ปาสเตอร์ในกรุงปารีสมีขวดปิดไว้ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเขา น้ำซุปเนื้อในนั้นยังคงไม่บูดเน่า หลังจากที่มันมีอายุนานกว่า 100 ปี การค้นคว้านี้ทำให้เกิดอาหารกระป๋อง และบรรจุขวดที่เรารู้จักกันมาจนทุกวันนี้ อาหารถูกปิดไว้ในกระป๋องหรือขวดด้วยความร้อนสูง ทำให้จุลชีพไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในนั้นได้



ในขณะนั้นหลุยส์ยังคงไม่สามารถรักษาโรคชนิดหนึ่งได้ นั่นคือ โรคกลัวน้ำ เขาไม่เคยลืมเฮนรี่เพื่อนของเขาเลย และเขาตัดสินใจที่จะค้นหาสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นฆาตกรที่ร้ายกาจ เพื่อประโยชน์แก่เด็กอื่นๆ ที่ประสบโรคนั้น ตอนแรกเขาไม่สามารถค้นพบเชื้อจุลลินทรีย์ใดๆ เลย แม้ด้วยกล้องจุลทรรสน์ที่มีกำลังขยายมาก เขาเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างต้องอยู่ที่นั่น บางสิ่งบางอย่างที่เล็กมากจนไม่ปรากฏให้เห็นแม้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากที่สุด ซึ่งเขาเรียกมันว่าไวรัส หลังจากการทดลองที่เสี่ยงอันตรายหลายครั้ง เขาพบเชื้อไวรัสสมบูรณ์ที่สุดในบริเวณไขสันหลังของสัตว์ที่เป็นโรค เขาสามารถเพาะเชื้อไวรัสได้ และฉีดมันเข้าไปในสัตว์ตัวอื่นๆ ให้มันรับเชื้อโรคกลัวน้ำด้วย หลุยส์ทดลองฉีดไวรัสโรคกลัวน้ำแก่สุนัขทั้งสิบตัว วันต่อมาเขาเริ่มฉีดเชื้อไวรัสที่ทำให้อ่อนแอลงแล้วของเขาให้สุนัขทุกตัว การรักษาประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ไม่มีสุนัขตัวใดติดโรคกลัวน้ำเลย การค้นพบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำ ให้ความหวังใหม่แก่ผู้คนในหลายประเทศ การฉีดวัคซีนให้ผลสำเร็จในประเทศต่างๆ มากมาย ผู้คนที่มีความกตัญญูได้รับการรักษาจนหาย ส่งเงินมาช่วยเหลือเพื่อสร้างตึก ปาสเตอร์ อินสติทิวส์ ในกรุงปารีส ปัจจุบันนี้ ปาสเตอร์ อินสติทิวส์ ได้มีขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก เมื่อหลุย ปาสเตอร์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1895 ผู้คนหลายล้านคนโศกเศร้าเสียดาย เขาไม่เพียงแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเท่านั้น แต่เป็นบุคคลสำคัญอีกด้วย เขาเป็นคนอ่อนน้อม และสนใจกับเรื่องอนามัยของคนอื่นอยู่เสมอ

Marie Curie:มารี คูรี

Marie Curie


มารี คูรี







--------------------------------------------------------------------------------



มารี คูรี่ “ผู้ค้นพบแร่เรเดียม” นักวิทยาศาสตร์ที่รักการค้นคว้ายิ่งกว่าชีวิตของตัวเอง และเสียชีวิตลงด้วยรังสีของแร่เรเดียม ซึ่งเธอได้คลุกคลีกับมาเป็นเวลานาน แร่เรเดียมที่นับได้ว่าช่วยเหลือคนรอดชีวิตมาเป็นจำนวนมาก กลับทำลายชีวิตของเธอเองอย่างน่าเสียดาย



เธอเกิดในประเทศโปแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1867 เป็นบุตรีของศาสตราจารย์วลาดิสลาฟ สโคลโดว์สกา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์และคำนวณ ซึ่งเธอได้รับการถ่ายทอดวิชาวิทยาศาสตร์จากบิดามาตั้งแต่เด็ก มารีสนใจในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพมาก จึงได้เดินทางไปศึกษายังมหาวิทยาลัยซอร์บอน ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส



เมื่ออายุได้ 27 ปี เธอได้รู้จักกับปีแอร์ คูรี่ นักฟิสิกส์และเคมีชาวฝรั่งเศส และได้แต่งงานกันเมื่อปี 1895 ซึ่งปีแอร์มีส่วนช่วยในการค้นพบครั้งสำคัญนี้เป็นอย่างมาก มารีและสามี ได้ทำการทดลองค้นคว้าอย่างไม่หยุดยั้ง เธอแยกธาตุออกจากแร่พิทช์แเบลนด์ได้เป็นส่วนย่อย จนกระทั่งพบธาตุใหม่อีกธาตุหนึ่ง ในขั้นแรกเธอให้ชื่อว่า โปโลเนียม(Polonium) ซึ่งมีคุณสมบัติทางกัมมันตภาพรังสีอยู่มาก จนต่อมาเธอตัดสินใจเรียกธาตุใหม่นี้ว่า เรเดียม(Radium) ซึ่งมีคุณสมบัติสูงกว่ายูเรเนียมถึง 2 ล้าน 5 แสนเท่า เรเดียมสามารถแยกก๊าซหรืออากาศได้ และทำให้เกิดแสงเรือง มีพลังความร้อน ซ้ำยังเป็นโลหะที่มีอานุภาพทำลายชีวิตมนุษย์ได้อีกด้วย



ปิแอร์และมารี คูรี่ ได้รับการยกย่องในผลสำเร็จครั้งนี้อย่างมาก แม้แต่ในต่างประเทศ เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ของอังกฤษ ได้มอบเหรียญเดวี่ให้เป็นเกียรติแก่บุคคลทั้งคู่ มารี คูรี่ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี 1911



ในขณะที่บุคคลทั้งสองกำลังรุ่งโรจน์อยู่นั้น เหตุร้ายก็เกิดขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 19 เมษายน 1906 ปีแอร์ คูรี่ สามีของเธอก็ประสบอุปัทวเหตุ และถึงแก่กรรมตายทันที ยังความเศร้าสลดใจมาให้แก่มารี คูรี่ อย่างสุดซึ้ง และเกือบจะทำให้เธอยอมทอดทิ้งผลงานต่างๆ ที่ทำค้างไว้ทั้งสิ้น แต่ในไม่ช้าเธอก็หวนกลับมาสู้การค้นคว้าผลงานของเธอต่อไป



ในปี ค.ศ.1934 มารี คูรี่ ก็ล้มเจ็บลง ด้วยลักษณะอาการของคนที่อ่อนเพลีย หมดแรงลงอย่างรวดเร็ว และถึงแก่กรรมในเช้าวันที่ 4 กรกฎาคม 1934 แพทย์ตรวจพบภายหลังว่า กระดูกสันหลังของเธอถูกทำลายด้วยรังสีของแร่เรเดียม ซึ่งเธอได้คลุกคลีกับมันมาเป็นเวลานาน แร่เรเดียมที่นับได้ว่า ได้ช่วยคนรอดชีวิตมาเป็นจำนวนมากนั้น กลับทำลายชีวิตของเธออย่างน่าเสียดาย

Max Planck:แมกซ์ ปลังก์

Max Planck


แมกซ์ ปลังก์







--------------------------------------------------------------------------------



แมกซ์ ปลังก์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1858 ในประเทศเยอรมัน เป็นนักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีควอนตัม อันเป็นทฤษฎีหนึ่งในสองทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ได้ปฏิรูปความคิดทางฟิสิกส์ขนานใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 (อีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์) จากการค้นพบทฤษฎีควอนตัมนี่เอง ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1918 หลังจากนั้นเขาได้พยายามอย่างมากในการทำให้ทฤษฎีของเขาใช้ได้กับฟิสิกส์ยุคดั้งเดิมของนิวตันและแมกซ์เวลล์ แต่ไม่ได้รับผลสำเร็จ จนในที่สุดไอน์สไตน์เป็นผู้ขยายความคิดของควอนตัมให้ไกลออกไปจากที่ปลังก์ได้ทำไว้


แมกซ์ ปลังก์ ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1947 ขณะมีอายุได้ 89 ปี

Michael Faraday:ไมเคิล ฟาราเดย์

Michael Faraday


ไมเคิล ฟาราเดย์







-----------------------------------------------------------------



ไมเคิล ฟาราเดย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาน้อยและยากจน มีชีวิตอยู่ในสลัม แต่รักในการอ่านหนังสือ และชอบไปฟังการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์สำคัญๆเสมอ จนได้เป็นลูกศิษย์ของเซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี



ไมเคิล ฟาราเดย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี ค.ศ.1791 เป็นบุตรของช่างเหล็กชาวอังกฤษ เนื่องจากฐานะไม่สู้ดี เขาจึงได้รับการศึกษาน้อย ยังไม่ทันเรียนสำเร็จก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และใช้ชีวิตอยู่ในสลัมแห่งหนึ่งไม่มีวี่แววว่าจะเติบโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงไปได้



เมื่อมีอายุได้ 13 ปี ไมเคิลก็ไปทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ และทำงานเย็บปกหนังสือในร้านขายหนังสือด้วย จากการงานนี้ทำให้เขามีใจรักหนังสือและหาโอกาสอ่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาไฟฟ้าที่เขาสนใจที่สุด และก็ลองทำการทดลองดูด้วยตนเอง และหาโอกาสไปฟังการบรรยายของเซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี ซึ่งเขาจะไปฟังทุกครั้ง และส่งจดหมายแสดงความประสงค์ที่จะขอไปเป็นเด็กรับใช้ของเซอร์ฮัมฟรีย์



เซอร์ฮัมฟรีย์ เดวีย์ เห็นชายหนุ่มมีความสนใจอย่างแรงกล้า จึงรับเข้าทำงานเป็นคนล้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องเครื่องมือ ทำให้เขามีโอกาสศึกษาวิชาทางวิทยาศาสตร์จากเซอร์ฮัมฟรีย์ จนเกิดความชำนาญ จนได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยและติดตามท่านเซอร์ไปในการเดินทางไปบรรยายทุกครั้ง



ในปี1821 ขณะที่ฟาราเดย์ได้ทำการทดลองเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า เขาก็พบปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่กระแสไฟฟ้าเดินตามเส้นลวดแล้วทำให้เกิดอำนาจแม่เหล็กรอบๆเส้นลวด กระแสนี้เมื่อนำเอาเข็มแม่เหล็กไปวางไว้ใกล้ กระแสนี้ก็จะหมุนไปเรื่อยๆ ด้วยหลักอันนี้ ฟาราเดย์จึงทดลองประดิษฐ์ไดนาโมเล็กๆขึ้น อันเป็นต้นกำเนิดของไดนาโมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน



ไมเคิล ฟาราเดย์ ล้มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมในบั้นปลายของชีวิต และถึงแก่กรรมเมื่อ ปี ค.ศ. 1867 ที่แฮมป์ตันคอร์ท เมื่ออายุได้ 76 ปี

Nicolas Copernicus:นิโคลาส โคเปอร์นิคัส

Nicolas Copernicus
นิโคลาส โคเปอร์นิคัส




-------------------------------------------------------

นิโคลาส โคเปอร์นิคัส เป็นนักดาราศาสตร์ผู้ศึกษาดาราศาสตร์ด้วยตาเปล่า เพราะกล้องโทรทรรศน์มีขึ้นภายหลังการค้นพบของเขาหลายปี กลางวันเขาจะเฝ้าดูดวงอาทิตย์ ส่วนกลางคืนเขาก็เฝ้าดูดาวผ่านเส้นเมอริเดียนที่เขาทำขึ้น เขาเป็นนักดาราศาสตร์ที่อาจหาญล้มล้างทฤษฎีของอริสโตเติล ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันมานานเป็นพันๆ ปี ว่าเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล

นิโคลาส โคเปอร์นิคัส เกิดที่เมืองตูรอน ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1473 เขากำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 10 จึงอยู่ในความดูแลของลุงที่เป็นบิชอปแห่งเมืองเออร์มแลนด์ เขาได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ปริญญาทั้งทางการแพทย์และการศาสนา แต่ก็มีความสนใจในการดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก

คนในสมัยนั้นมีความเชื่อถือตามคำกล่าวของอริศโตเติลและปโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีกทางดาราศาสตร์ที่ว่า “โลกอยู่กับที่ และเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล โดยมีอาทิตย์และดวงดาวทุกดวงโคจรอยู่เป็นวงกลม” ซึ่งทฤษฎีเหล่านี้เชื่อถือต่อกันมานับเป็นพันปีๆ แต่สำหรับโคเปอร์นิคัสไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่ไม่กล้าแสดงอะไรออกมา เพราะความคิดหรือความเชื่อใดๆ ที่ขัดแย้งกับความเชื่อของอริสโตเติล ก็จะขัดกับหลักของศาสนาด้วย การขัดแย้งกับหลักของศาสนาในสมัยนั้นย่อมเป็นผลร้ายกับตัวเอง และจะถูกลงโทษอย่างหนัก

จนกระทั่งในปี ค.ศ 1543 โคเปอร์นิคัสก็เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า De Revolutionibus Orbium Coelestium (เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นรากฐานของดาราศาสตร์ปัจจุบัน) การเขียนหนังสือเล่มนี้เขาใช้เวลานานถึง 30 ปี จากการสังเกตและคำณวนในห้องทดลองนับร้อยๆ ครั้ง เขากล่าวว่า “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์ของจักรวาล โดยมีโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์” ซึ่งคำกล่าวนี้ของเขาต่อมาได้ถูกยืนยันว่าถูกต้องจากนักดาราศาสตร์รุ่นต่อมา คือกาลิเลโอนั่นเอง หนังสือเล่มนี้กว่าจะได้จัดพิมพ์ก็เป็นในช่วงปลายชีวิตของเขา หลังจากเขียนหนังสือเล่มนี้เสร็จได้เพียง2-3 อาทิตย์ เขาก็ล้มป่วยเป็นอัมพาต และถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ.1548