Wednesday, November 18, 2009

Sir Humphry Davy:เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี

นักเคมีผู้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย



ชาวอังกฤษ ชื่อ เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1778 ที่เมืองคอร์นวอล ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนัก บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุได้เพียง 6 ปี หลังจากจบการศึกษาแล้ว เขาก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของอยุรแพทย์คนหนึ่ง พร้อมกันนั้นเขาก็ทุ่มเทความสนใจให้กับการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเคมี จนถูกไล่ออกจากงานเนื่องจากเขาชอบทำการทดลองทางเคมีทำให้เกิดการระเบิดขึ้นบ่อยๆ

ในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้านัก โดยเฉพาะการผ่าตัดในโรงพยาบาลยังไม่มียาใดที่จะระงับความเจ็บปวดของคนไข้ในขณะผ่าตัด ฮัมฟรีย์ เดวีจึงพยายามคิดค้นหาวิธีระงับความเจ็บปวด และเขาก็ได้พบก๊าซชนิดหนึ่ง (คือไนตรัสออกไซด์) โดยการสูดเข้าไปโดยบังเอิญและค้นพบว่าก๊าซนี้ทำให้เขาหมดสติไปชั่วขณะและพอตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด และยังรู้สึกสดชื่นอีกด้วย เขาจึงเรียกมันว่า “ก๊าซหัวเราะ” (ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปใช้เป็นยาสลบ) นอกจากนั้นเขาก็ทดลองสูดก๊าซชนิดต่างๆเข้าไปจนเกิดอาการป่วยจึงต้องระงับการทดลองชั่วคราว

นอกจากการค้นพบก๊าซหัวเราะแล้ว เขายังเป็นคนแรกที่แยกองค์ประกอบของน้ำได้เป็นผลสำเร็จโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ผ่านเข้าไปในน้ำ และแยกน้ำออกเป็นก๊าซได้ 2 อย่างคือ

ออกซิเจนกับไฮโดรเจน เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกรรมวิธีสมัยใหม่ในการใช้ไฟฟ้าในการทดลองทางเคมีเป็นคนแรก

และในปี พ.ศ. 2358 ฮัมฟรีย์ เดวี ก็ได้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยเพื่อใช้ในกิจการเหมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่จดจำไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ ชาวเหมืองถ่านหิน เพราะในสมัยนั้นการขุดเหมืองถ่านหินนับเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งเพราะลึกลงไปในเหมืองนั้นจะมีก๊าซชนิดหนึ่งที่ชาวเหมืองเรียกว่า “ไฟอับ” แฝงอยู่ และมักจะเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อโดนกับเปลวไฟจากตะเกียงน้ำมันที่คนงานใช้อยู่ จากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลายครั้งนี่เอง ทำให้เจ้าของบ่อถ่านหินพากันร้องทุกข์ต่อฮัมฟรีย์ เดวีนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งยงในสมัยนั้น

ฮัมฟรีย์ เดวีจึงเดินทางไปที่เมืองนิวคาสเซิล และค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เปลวไฟจากตะเกียงน้ำมันแลบไปถึงไฟอับในเหมืองได้ ในที่สุดเขาก็ออกแบบโคมไฟป้องกันอันตรายขึ้นแบบหนึ่ง ซึ่งให้แสงสว่างและมีตะแกรงลวดเส้นบางๆ ซึ่งจะขัดขวางและป้องกันเปลวไฟมิให้แลบไปถึงไฟอับในเหมือง และแม้ว่าก๊าซจะถึงเปลวไฟทางตะแกรง แต่พื้นผิวที่เย็นของตะแกรงจะป้องกันความร้อนของเปลวไฟมิให้แลบไปถึงก๊าซข้างนอกได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นอันมาก ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก และได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนาง (เซอร์) ในปี ค.ศ. 1812

เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวีถึงแก่กรรมที่เมืองเจนีวา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 เมื่อมีอายุได้ 51 ปี

No comments:

Post a Comment