Wednesday, November 18, 2009

Robert Kock:โรเบิร์ต ค็อค

ผู้ค้นคว้าเรื่องแบคทีเรีย




นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นคว้าในเรื่องของแบคทีเรีย เป็นผู้ที่แยกเชื้อโรคซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโรคอหิวาต์และวัณโรคได้


โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) เกิดในปี พ.ศ.2386 เขาเป็นแพทย์ที่อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกการศึกษา เกี่ยวกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาโรคในปัจจุบัน โดยเขาเริ่มศึกษาจากโรคที่เกิดกับแกะ แต่ยังไม่ทราบว่า มันคือเชื้อแอนแทรกซ์ โดยพบว่าเป็นเชื้อโรค ที่มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว


ดังนั้นค็อคจึงศึกษาต่อด้วยการเพาะเลี้ยงเชื้อแอนแทรกซ์นี้ ในอาหารเลี้ยงเชื้อบนสไลด์ ทำให้พบว่าเชื้อโรคนี้เจริญเป็นสายยาว รูปร่างเป็นรูปไข่โปร่งแสง และมีสปอร์ที่อยู่ในระยะฟักตัว โดยสปอร์นี้จะอยู่ได้นายหลายปี และสามารถเจริญเติบโตได้ เมื่ออยู่ในสภาพเหมาะสม แล้วพัฒนาเป็นแบคทีเรีย ที่มีรูปร่างเป็นแท่งกลม ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ นอกจากนี้ เขายังศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า สัตว์ชนิดต่าง ๆ จะมีอาการของโรคแตกต่างกัน และร่างกายของสัตว์ เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงแบคทีเรียให้บริสุทธิ์ได้ดี


หลังจากนั้น ค็อคมาทำงานที่สถาบันสุขภาพเยอรมัน ในกรุงเบอร์ลิน จึงสร้างห้องทดลองแบคทีเรีย และค้นพบวิธีแยกเชื้อแบคที่เรีย ที่ก่อให้เกิดโรคได้ โดยนำเทคนิคการแยกเชื้อมาใช้ศึกษาวัณโรค จนกระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2425 เขาก็สามารถแยกเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดวัณโรคได้สำเร็จ โดยสกัดสารที่เป็นของเหลวชื่อ ทูเบอร์คูลิน (tuberculin) จากแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงไว้ได้ ซึ่งช่วยตรวจสอบได้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือไม่


ระหว่างที่กำลังศึกษาวัณโรค ได้เกิดอหิวาต์ระบาดอย่างรุนแรง ในอียิปต์และแพร่สู่ยุโรป ค็อคได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบ ทำให้พบสาเหตุของโรคว่าเกิดจากแบคทีเรีย แต่เขาไม่สามารถหยุดการระบาดได้ ดังนั้นเขาจึงไปที่อินเดีย และได้ค้นพบแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดอหิวาต์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ค็อคยังศึกษาโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคเรื้อน โรคไวรัสในสัตว์เลี้ยง กาฬโรค ไข้แท็กซัส และมาลาเรีย


โดยวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง จนมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รวมทั้งปอดยังถูกทำลาย ทำให้ผอมแห้งและเสียชีวิต ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับละออง เสมหะหรือน้ำลายของผู้ป่วย แต่หลังจากมีการค้นพบตัวยาที่ใช้รักษาได้ผลดี และมีวัคซีนฉีดป้องกัน ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคได้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ได้รณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคให้สำเร็จ และได้มีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2541 ได้มีการจัดการประชุมที่กรุงลอนดอน โดยกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันวัณโรคโลก" (World TB Day) เพื่อให้ทุกประเทศ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านไม่ให้วัณโรคกลับมาระบาด เป็นโรคติดต่อเหมือนที่ผ่านมา

โรเบิร์ต ค็อค ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2453

No comments:

Post a Comment