Wednesday, November 18, 2009

Wilhelm Korad Roentgen:วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน

ผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์


นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ วิลเฮล์ม รืนต์เกิน(Wilhelm Konrad Roentgen) เป็นผู้ค้นพบรังสีประหลาดที่ทำให้คุณประโยชน์ให้แก่วงการแพทย์ และเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่หลวงโดยบังเอิญ และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล เมื่อปีค.ศ. 1901 โดยได้รับเหรียญรัมฟอร์ด ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดในปี 1896

วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน เกิดวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1845 ที่เมืองเลนเนปในโรน์แลนด์ เป็นบุตรคนเดียวของนักอุตสาหกรรมและการค้าผ้า เขาได้รับการศึกษาครั้งแรกในฮอลแลนด์และในซูริค เขาศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1902 รืนต์เกินค้นพบรังสีเอ็กซ์โดยบังเอิญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1895 ขณะที่เขาทำการทดลองโดยเอากระดาษแข็งสีดำสนิทหุ้มหลอดแก้วไว้ไม่ให้แสงสว่างลอดเข้าออกได้ และส่งกระแสไฟฟ้าผ่านก๊าซต่างๆ ในหลอดแก้วพิเศษ ซึ่งถูกดูดเอาอากาศออก

ในวันหนึ่ง รืนต์เกิน สังเกตว่าแม้หลอดจะถูกปกคลุมด้วยกระดาษสีดำ การแผ่รังสีบางอย่างสามารถจะส่งผ่านออกมาได้และทำให้ฉากที่วางอยู่ใกล้สว่างขึ้น รืนต์เกินไม่สามารถมองเห็นว่ามีอะไรออกมาจากหลอด แต่เขาค้นพบว่า ถ้าเขาวางฉากในห้องถัดไปซึ่งอยู่คนละด้านและปิดประตู รังสีก็ดูเหมือนจะมีผลต่อฉาก

ดังนั้นรังสีไม่เพียงแต่สามารถผ่านทะลุกระดาษดำเท่านั้น ยังผ่านไม้ไปได้ด้วย สิ่งต่อมาที่เขาค้นพบคือ ถ้าเขาวางมือกั้นระหว่างรังสีและแผ่นถ่ายภาพ รังสีจะบันทึกเงาของโครงกระดูกของมือเขาบนแผ่นถ่ายภาพนั้น แสดงว่ารังสีนี้สามารถส่องผ่านเนื้อของเขาเช่นเดียวกับที่ส่องผ่านกระดาษดำ

รืนต์เกินทดลองดูอีกภายใน 2 – 3 นาที ก็หายสงสัยเขาจึงประกาศการค้นพบของเขาโดยให้ชื่อแสงนี้ว่า “รังสีเอ็กซ์” ตั้งแต่รืนต์เกินพบรังสีเอ็กซ์มาจนถึงปัจจุบัน รังสีนี้ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวงการแพทย์ซึ่งค้นพบว่านอกจากรังสีเอ็กซ์จะช่วยให้แพทย์ใช้ประโยชน์ในการตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะภายในของคนไข้แล้ว รังสีนี้อาจจะใช้ได้ผลในการบำบัดโรคมะเร็งและกำจัดความเติบโตผิดปกติของเซลบางจำพวกด้วยเหมือนกัน นอกจากวงการแพทย์แล้ว รังสีเอ็กซ์ยังใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมวิศวกรรม การสืบสวน และวงการวิทยาศาสตร์หลายสาขาด้วยกัน

วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน ผู้ค้นพบสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างมหาศาล ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1913 ด้วยโรคมะเร็ง

No comments:

Post a Comment